ร่วมแบ่งปัน “น้ำใจ” ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุ “โนรู”

ร่วมสนับสนุน

โพสเมื่อ : 19 กันยายน 2565

จากสถานการณ์พายุโนรู เคลื่อนตัวเข้าไทยในช่วงเย็นวันที่ 28 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา  ส่งผลให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยและวาตภัยในพื้นที่ภาคอีสาน แม้ปัจจุบันพายุจะอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชัน แต่ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้บ้านเรือนได้รับความเสียหาย  ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดศรีสะเกษ รวมไปถึงพื้นที่อื่นๆ เช่น พื้นที่บนดอยสูงในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักต่อเนื่อง จนเกิดน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ เช่น อ.อมก๋อย อ.กัลยาณิวัฒนา อ.แม่แจ่ม
ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานสำคัญในการทำงานพัฒนาของมูลนิธิรักษ์ไทย

 

1.ขาดแคลนน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภค

จากสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่สูงทำให้ท่อน้ำประปาภูเขา ที่หล่อเลี้ยงคนในหมู่บ้านได้รับ ความเสียหาย การช่วยเหลือที่ดำเนินการไปแล้วเบื้องต้นคือ ซ่อมแซมระบบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แต่ยังขาดงบประมาณที่มียังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาที่ครอบคลุม

2.บูรณะซ่อมแซมฝายที่ใช้ในการกับเก็บน้ำสำหรับการเกษตร

เนื่องจากช่วงเวลานี้เป็นช่วงผลผลิตกำลังเติบโต ต้นข้าวที่ตั้งท้องต้องการน้ำในการทำการเกษตร เมื่อเกิดน้ำป่าไหลหลาก ทำให้เหมืองและฝายในชุมชนได้รับความเสียหาย ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ จึงต้องการงบประมาณสนับสนุนการบูรณะซ่อมแซมฝายและสร้างใหม่ในหลายชุมชน

มูลนิธิรักษ์ไทยขอเชิญชวนท่าน
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเราในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากพายุโนรู

 “กองทุนเพื่อการรับมือกับภัยพิบัติอย่างยั่งยืน”
เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาภัยพิบัติในพื้นที่ทำงานของรักษ์ไทย

ชื่อบัญชี มูลนิธิรักษ์ไทย
เลขที่ 056-2-21065-4


ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา ซอยอารีย์สัมพันธ์
[ทุกการช่วยเหลือสามารถลดหย่อนภาษีได้]

อัพเดทสถานการณ์การแก้ปัญหาหลังเกิดอุทกภัยในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม อ.กัลยาณิวัฒนา และ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ (ข้อมูล ณ วันที่ 23 กันยายน 2565)

 1. การแก้ปัญหาแบบเร่งด่วน 
ขณะนี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ ได้เข้าช่วยเหลือเบื้องต้น โดยการทำความสะอาดพื้นที่ วางแผนซ่อมแซมสะพานที่ขาด และซ่อมฝายแบบชั่วคราวโดยใช้ท่อพีวีซี เพื่อให้เกษตรกรนำน้ำไปใช้กับนาข้าวได้ในระยะนี้

2. การแก้ปัญหาแบบระยะยาว 
อยู่ในกระบวนการนัดหารือ เพื่อวางแผนการซ่อมแซมฝาย  ฟื้นฟูเหมืองในช่วงฤดูแล้งปี 2566 รวมถึงการซ่อมบริเวณริมถนนด้วยคอนกรีตเพื่อป้องกันการพังทลายที่อาจเกิดขึ้นอีกได้ในอนาคต
 
โดยปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นหลังประสบอุทกภัย ถือเป็นกรณีศึกษาสำหรับชุมชน หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ และภาคประชาสังคม ที่จะหาทางตั้งรับและป้องกันเพื่อบรรเทาความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้อีกต่อไป

รายงานสถานการณ์น้ำท่วมและผู้ประสบภัย จ.อุบลราชธานี (ข้อมูลเดือนตุลาคม 2565)

     ทีมงานมูลนิธิรักษ์ไทย จ.อุบลราชธานี ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่นับตั้งแต่ฝนตกหนักในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยนายนุ (ผู้ใหญ่บ้าน) ชุมชนบ้านท่ากกแห หมู่ 8 ต. แจระแม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ให้ข้อมูลว่า
     “วันที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา ฝนตกทั้งวัน ก็คิดว่าจะไม่รุนแรง ตกเย็นฝนไม่หยุด ผมจึงประกาศหอกระจ่ายข่าว  ให้ลูกบ้านที่ติดริมน้ำเตรียมตัว ต่อมาวันที่ 29 -30 กันยายน ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ไหลล้นตลิ่งเข้าชุมชน ชาวบ้านจึงขนของเตรียมไปไว้ที่สูง ดูสถานการณ์แล้วคิดว่าหนักและสูงพอๆกับที่เคยเกิดขึ้นปี 2562”
     ทั้งนี้ชุมชนบ้านท่ากกแห่ เป็นชุมชนชานเมืองที่ตั้งริมแม่น้ำมูล มีประชากรทั้งสิ้น 83 หลังคาเรือน ประชากร 296 คน ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีฝนหนักติดกันหลายวัน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำมูลเริ่มสูงขึ้น และมีบางจุดเริ่มล้นตลิ่ง  โดนเฉพาะช่วงที่พายุโนรูเข้ามา ทำให้ปริมาณน้ำฝนไหลลงสู่ลำน้ำสาขามากขึ้น  เช่น ลำน้ำเสียวไหลลงสู่แม่น้ำมูล ลำน้ำยัง  ลำเซบายไหลลงสู่แม่น้ำชี แล้วไหลมารวมกันที่ อ.เมือง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้าง ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ริมแม่น้ำมูลทั้ง 2 ฝั่ง บางจุดมีระดับน้ำสูงอยู่ที่ 1 - 3  เมตร
สำหรับบริเวณชุมชนบ้านท่ากกแห่ ระดับน้ำท่วมสูงถึง 2 เมตรประชาชนได้ขนย้ายสิ่งของไว้บนชั้น 2 ของบ้านและมาอาศัยอยู่ที่ศูนย์พักพิง 2 จุด
จุดที่ 1 วัดท่ากกแห่ 
จุดที่ 2 พื้นที่เอกชนข้างถนนรอบเมืองทาง
     แม้เทศบาลแจระแม ได้นำเต็นท์มาติดตั้งเพิ่มเติมแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการให้ความช่วยเหลือ ผู้อพยพบางส่วนจึงก่อสร้างที่พักขึ้นเอง โดยขณะนี้มีจำนวนผู้อพยพที่ต้องได้รับความช่วยเหลือทั้งสิ้น 102 คน จาก 59 ครอบครัว โดยมีครอบครัวเปราะบาง 3 ครอบครัว และผู้ทุพพลภาพ 4 คน (ประกอบด้วยผู้พิการทางสายตา 1 คน ทางร่างกาย 1 คน ทางสมอง 1 คน และเป็นผู้ป่วยเรื้อรังติดเตียง 1 คน)

     สถานการณ์การช่วยเหลือล่าสุด เทศบาลแจระแม ได้จัดส่งน้ำอุปโภค บริโภค รวมถึงอาหารสัตว์สำหรับโคและกระบือมาให้ มีหน่วยงานเอกชนนำน้ำดื่มมามอบให้ 2 ครั้ง และมีผู้ใจบุญนำอาหารกล่องมาแจกให้ในศูนย์พักพิง 3 ครั้ง โดยการเดินทางเข้าออกบริเวณจุดพักพิงจะมีเรือบริการและรถทหาร คอยรับส่ง อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือด้านของอุปโภค บริโภค แม้ว่าระดับน้ำจะลดต่ำลงไปบ้างแล้ว
 

ที่มาข้อมูล : มูลนิธิรักษ์ไทย จ.อุบลราชธานี

โครงการอื่นๆ

โครงการส่งเสริม พลังสุขภาพจิต ที่ดีของเยาวชน

“มูลนิธิส่งเสริมชุมชน ร่วมกับ มูลนิธิรักษ์ไทย มุ่งมั่นและร่วมมือจัดการกับความท้าทายเพื่อแก้ไขปัญหาและส่งเสริมด้านสุขภาพจิตที่ดีของเยาวชนไทย” นวัตกรรมสร้างผลกระทบเชิงบวก ส่งเสริมความรู้ พัฒนาสุขภาพกาย สุขภาพใจ เพื่อปลูกฝังให้สังคมมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น

รักษ์ไทยชวนคุณสร้างกุศลพลิกชีวิตปี ‘66
สมทบทุน 99บาท พัฒนาผู้หญิงถิ่นห่างไกล

สนับสนุนการพัฒนา 6 ขั้น เพื่อสร้างความเท่าเทียมของสตรีในถิ่นห่างไกล” จึงเริ่มต้นขึ้นเพื่อขอแรงสนับสนุนจากคนทุกเพศในเขตเมือง ที่ยืนหยัดเพื่อสร้างความเท่าเทียมในสังคม เงิน 99 บาทจากหลากผู้สนับสนุนจะเป็นท่อน้ำเลี้ยงที่สามารถพลิกชีวิตผู้หญิงในถิ่นห่างไกลที่ไม่ได้มีโอกาสทัดเทียมคนเมือง

#Sheisme วันสตรีสากล

#Sheisme แคมเปญที่จะอยู่เคียงข้างผู้หญิงทุกคนให้ผ่านทุกเรื่องราวในชีวิต สนับสนุนให้ผู้หญิงทุกคนภูมิใจในตัวเองที่ผ่านทุกเรื่องราวมาได้ สนับสนุนให้ผู้หญิงทุกคนค้นหาตัวเองและเป็นคนที่คุณอยากจะเป็น

ปันน้ำใจช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ปัตตานี ยะลา นราธิวาส น้ำท่วมหนักในรอบ 20 ปี

กลุ่มอาชีพผู้หญิงเดือดร้อนเครื่องมือประกอบอาชีพเสียหาย จักรเย็บผ้าจมน้ำ เครื่องนวดแป้ง เครื่องอบขนมเสียหาย และผู้หญิงยังต้องมีภาระหน้าที่ในจัดทำอาหารให้กับคนในครอบครัว ต้องทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด เกิดภาวะเครียด อาหารที่มีอยู่เริ่มขาดแคลน ออกจากบ้านลำบาก ขาดรายได้ในช่วงเวลานี้