ศูนย์เรียนรู้ลูกแรงงานข้ามชาติ จ.ปัตตานี

    ไม่เว้นแม้แต่เด็ก ๆ ลูกแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย พวกเขา/เธอก็มีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาเช่นเดียวกัน แต่การเข้าถึงการศึกษาของเด็กกลุ่มนี้อาจไม่ง่ายดายนัก ด้วยข้อจำกัดนานาประการ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของพ่อแม่ที่เป็นแรงงานอพยพ ข้อจำกัดเรื่องหลักฐานยืนยันตัวตน ตลอดจนถึงฐานะทางเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย

      ศูนย์เรียนรู้ลูกแรงงานข้ามชาติ ที่บ้านแหลมนก จ.ปัตตานี เป็นโครงการหนึ่งของมูลนิธิรักษ์ไทย จ.ปัตตานี เปิดดำเนินการมาเกือบ 10 ปีแล้ว แรกเริ่มเมื่อปี 2556 แรงงานข้ามชาติเมียนมาที่เห็นความสำคัญในการศึกษาแก่เด็ก ๆ ลูกหลานของตน ได้รวมกลุ่มจัดการเรียนการสอนด้วยตนเอง โดยแรงงานข้ามชาติรุ่นผู้ใหญ่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเป็นคุณครู  

     เมื่อดำเนินการเองมาระยะหนึ่งแรงงานเมียนมาได้ขอคำปรึกษากับเจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทยเพื่อให้มีพื้นที่กลางในการจัดการเรียนการสอนให้เป็นกิจลักษณะมากขึ้น งานนี้ “รักษ์ไทย” จึงเข้ามาประสานกับองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้นำชุมชน จนกระทั่งได้พื้นที่ในบริเวณสำนักสงฆ์บ้านแหลมนก ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี สำหรับสร้างศาลาโล่งกว้างหลังใหญ่ทำหน้าที่เป็นอาคารเรียนให้แก่เด็ก ๆ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ป.4 แบ่งห้องเรียนแต่ละชั้นด้วยกระดานไวท์บอร์ด ทั้งโรงเรียนมีครูคนเดียววิ่งรอกสอนทั้ง 4 ชั้น

     ในแต่ละปีมีเด็กนักเรียนลูกแรงงานข้ามชาติเข้ามาเรียนปีละประมาณ 70-80 คน แต่ปีนี้ (2564)ด้วยพิษภัยโควิด 19 แรงงานข้ามชาติได้รับผลกระทบถูกเลิกจ้างบ้าง ลดวันทำงานบ้าง พ่อออกเรือไปทะเลนานกว่าปกติยังไม่กลับมาบ้าง ชีวิตความเป็นอยู่ลำบากขึ้น จำนวนเด็กนักเรียนเหลือเพียง 49 คน

     เนื้อหาการเรียนการสอนของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ พอจะเรียกได้ว่าเป็นศูนย์นานาชาติเลยทีเดียว เพราะมีทั้งหลักสูตรแบบการศึกษาไทย และหลักสูตรตามแบบกระทรวงศึกษาธิการเมียนมา แล้วแต่ว่าผู้ปกครองอยากให้ลูกเรียนแบบไหน ในกรณีที่พ่อแม่เห็นว่าอยากให้ลูกได้เรียนรู้ภาษาไทย ก็จัดให้เตรียมความพร้อมแบบไทยก่อนส่งต่อไปยังโรงเรียนในพื้นที่ในชั้นที่สูงขึ้น ส่วนใครที่มีแผนว่าต้องกลับเมียนมา ก็เรียนตามหลักสูตรของบ้านเกิด เพื่อที่ว่าเมื่อกลับไปแล้วการศึกษาของลูกจะได้ไม่สะดุด

  นอกจากเรียนวิชาการแล้ว ทางศูนย์เรียนรู้ฯยังสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง มีแปลงเกษตรให้นักเรียนช่วยกันปลูกผักเพื่อนำมาทำอาหารกลางวัน และสอนแยกขยะเพื่อสร้างนิสัยในการรักษาสิ่งแวดล้อม

     เพ็ญนภา คงดี ผู้ประสานงานโครงการศูนย์เรียนรู้ลูกแรงงานข้ามชาติ ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียน บอกว่าโรงเรียนนี้สอนฟรี แต่พ่อแม่ก็บริจาคให้กับโรงเรียนบ้างเดือนละ 100-200 บาท มีครูชาวเมียนมา 1 คนเป็นตัวหลักในการสอนทั้งโรงเรียน พร้อมกันนั้นก็มีครูกศน.เข้ามาสอนภาษาไทยเป็นระยะ ๆ และมีนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เข้ามาจัดกิจกรรมให้เด็กด้วย  

     ในกรณีที่เด็กเรียนจบที่ศูนย์เรียนรู้ฯ แล้วต้องการไปเรียนต่อโรงเรียนไทยในพื้นที่  เพ็ญนภา ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนจะช่วยจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ให้ ทั้งการแปลเอกสารใบเกิดของเด็ก และออกใบรับรองผ่านการศึกษา จากสถิติพบว่าครึ่งหนึ่งของเด็กที่นี่จะเข้าเรียนต่อโรงเรียนไทย อย่างปีที่ผ่านมาก็เข้าโรงเรียนไทยไปแล้ว 20 คน
มีเด็กนักเรียนบางคนเรียนจบ ป.6 ไปแล้ว ก็ยังกลับเข้ามาช่วยสอนน้อง ๆ ของเขา เป็นสายใยสัมพันธ์จากพี่สู่น้อง ส่งต่อถึงกันผ่านการศึกษา ที่เรียกได้ว่าเป็นการให้ที่ไม่มีวันสิ้นสุดจริง ๆ 

โครงการอื่นๆ

ศูนย์การเรียนรู้ลูกแรงงานข้ามชาติ จ.สมุทรสาคร

ศูนย์การเรียนรู้ลูกแรงงานข้ามชาติ จ.สมุทรสาคร

ช่วงเวลาเกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการของระบบเศรษฐกิจไทย เป็นจำนวนมาก มูลนิธิรักษ์ไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะต้องให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ให้ตระหนักถึงสิทธิของตน โดยได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ผ่านหลากหลายโครงการ

ส่งเสริมความรู้อนามัยเจริญพันธุ์ในนักศึกษา กศน.

ส่งเสริมความรู้อนามัยเจริญพันธุ์ในนักศึกษา กศน.

สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทย และเมื่อพิจารณาข้อมูลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน(จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม) พบว่าประชากรอายุระหว่าง 15-24 ปีมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกไม่ปลอดภัย/ไม่ป้องกัน

ยุติการรังแกในโรงเรียนและโซเชียลมีเดีย

ยุติการรังแกในโรงเรียนและโซเชียลมีเดีย

“บูลลี่” (bully) คำศัพท์ภาษาฝรั่งที่คนไทยเริ่มใช้ทับศัพท์กันในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะทางสื่อสังคมออนไลน์ “โซเชียลมีเดีย” มีการพูดถึง “ไซเบอร์บูลลี” หรือการรังแกกันผ่านทางโซเชียลมีเดีย กันมากขึ้น แต่การรังแกทางกายภาพ ต่อหน้าต่อตานั้น ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่น้อยไปกว่ากัน

ศูนย์การเรียนรู้ลูกแรงงานข้ามชาติ จ.นครศรีธรรมราช

ศูนย์การเรียนรู้ลูกแรงงานข้ามชาติ จ.นครศรีธรรมราช

พื้นที่ในอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์ อาชีพของชาวบ้านในชุมชนที่นี่จึงเป็นการจับสัตว์น้ำในทะเล และใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมง ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติหลากหลายสัญชาติเดินทางเข้ามาใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน