การแก้ปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเชียงใหม่

     เมื่อพิจารณาในระดับจังหวัด พบว่าเชียงใหม่อยู่ในกลุ่มจังหวัดที่มีอัตราคลอดของวัยรุ่นในระดับสูง (25-29 ต่อพัน) และอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” ทั้งอัตราคลอดในกลุ่มวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี และกลุ่มเด็กหญิงอายุ 10-14 ปี

     ช่วงอายุของกลุ่มแม่วัยรุ่นนั้น ในอีกด้านหนึ่งพวกเธอก็คือเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมไปจนถึงอาชีวศึกษา หากเธอเหล่านั้นไม่ก้าวพลาด อนาคตอันสดใสยังคงรออยู่ หากมีทางใดที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ ย่อมเป็นสิ่งที่คนในสังคมไม่ควรเพิกเฉย

     มูลนิธิรักษ์ไทย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจังหวัดเชียงใหม่ (15 กันยายน 2560 – 15 มีนาคม 2563) โดยการดำเนินงานในระยะแรกทำงานขับเคลื่อนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ โดยใช้กลไกคณะกรรมการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเป็นกลไกกลาง และใช้กลไกคณะกรรมการอนามัยการเจริญพันธุ์ระดับอำเภอขับเคลื่อนงานระดับอำเภอ ดำเนินงานเชิงบูรณากรในรูปแบบ “ประชุมร่วม-แยกกันรับผิดชอบ” มีภารกิจตามกรอบการสนับสนุนของ สสส. เช่น มีกลไกประสานงานระดับจังหวัดที่เข้มแข็ง  มีการทำงานร่วมกับผู้ปกครองให้มีทักษะการคุยเรื่องเพศกับลูก ให้สถานศึกษาสอนเรื่องทักษะชีวิตและเพศวิถีศึกษารอบด้าน มีหน่วยบริการสุขภาพที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น เป็นต้น 

     แต่หลังจากดำเนินงานครบปีแรก ทีมประเมินผลพบว่า การทำงานร่วมกับวัยรุ่นยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ในประเด็นความพร้อมขององค์กร การเป็นหุ้นส่วนของวัยรุ่นกับผู้ดำเนินโครงการ ภาวะผู้นำและการตัดสินใจของวัยรุ่น  วัยรุ่นในฐานะผู้ประเมินและความหลากหลายของกลุ่มวัยรุ่น 

     พูดง่าย ๆ คือยังขาดการมีส่วนร่วมจากวัยรุ่นเจ้าของปัญหา  ดังนั้นจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนทิศทางการทำงานจาก “วัยรุ่นคือกลุ่มเป้าหมายโครงการ” เป็น “วัยรุ่นคือผู้ขับเคลื่อนทิศทางโครงการ” โดยอาศัยแนวทางการประเมินผลโดยการมีส่วนร่วมของเยาวชน  ซึ่งมีเครื่องมือการทำงานต่าง ๆ เช่น การวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยมีส่วนร่วมของเยาวชน  การใช้ภาพถ่ายสื่อสารความคิด  แผนที่ชุมชนฉบับเยาวชน และการรณรงค์เชิงนโยบาย

     โจทย์ใหญ่ในการทำงานจึงต้องให้การสนับสนุนผู้แทนเยาวชน ให้ทำงานได้จริง เข้มแข็ง และมีความเป็นตัวแทน โดยสามารถนำปัญหาและความต้องการเฉพาะของกลุ่มเยาวชนที่ตนเป็นสมาชิก ตลอดจนเยาวชนกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มเยาวชนพิการ กลุ่มเยาวชนยากจน กลุ่มเยาวชนชาติพันธุ์ ฯลฯ ไปสู่การตัดสินใจในระดับนโยบายเพื่อกำหนดทิศทางและรูปแบบการดำเนินงานที่ตอบโจทย์ของพวกเขา นำไปสู่การลดการตั้งครรภ์ที่มีปัญหา ตลอดจนช่วยเยาวชนที่ประสบปัญหาให้สามารถกลับคืนสู่วิถีชีวิตที่มีคุณภาพได้อีกครั้ง

โครงการอื่นๆ

ปัญหาการท้องในสถานประกอบการ

ปัญหาการท้องในสถานประกอบการ

“ลำพูน” เป็นจังหวัดเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในภาคเหนือ ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมลำพูนตั้งอยู่ ส่งผลให้มีประชากรวัยแรงงานชายหญิงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงอายุ 15-20 ปี ที่ส่วนใหญ่ย้ายมาจากอำเภอรอบนอกหรือจังหวัดใกล้เคียง ประมาณ 80,000 คน ใน 65 สถานประกอบการ

ป้องกันโควิด19 ในชุมชนประมง

ป้องกันโควิด19 ในชุมชนประมง

ช่วงเดือนธันวาคม 2563 ที่เกิดการระบาดของโควิด 19 ระลอกสองที่มหาชัย จนเป็นข่าวครึกโครมและส่งผลกระทบต่อชีวิตและเศรษฐกิจของชาวไทยและแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดสมุทรสาครนั้น มูลนิธิรักษ์ไทยมีส่วนสำคัญในการทำงานช่วยเหลือเบื้องหลังอย่างทันท่วงที