แรงงานข้ามชาติกับโควิด 19

     โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิตในเศรษฐกิจไทยก็ตกทุกข์ได้ยาก ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หรืออาจกล่าวได้ว่าน่าจะลำบากกว่าด้วยซ้ำ เพราะต้องมาตกระกำลำบากในต่างบ้านต่างเมือง

     ช่วงเริ่มต้นของการระบาดโควิด 19 ในปี 2563 มูลนิธิรักษ์ไทยมองว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสชนิดใหม่ที่ยังไม่มียารักษาได้ตัวนี้ มิใช่เป็นแค่เพียงมิติทางสุขภาพเท่านั้น แต่ยังต้องมีมุมมองการช่วยเหลือในทางสังคมแก่กลุ่มคนที่เข้าไปช่วยเหลือได้ยาก อย่างแรงงานข้ามชาติด้วย

     จุดแข็งของมูลนิธิรักษ์ไทยนั้นอยู่ที่มีการทำงานสนับสนุนด้านสิทธิแรงงานและสิทธิสุขภาพกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติอยู่แล้ว เราจึงเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด ไม่เสียเวลา

     การระบาดของโควิด 19 ในระลอกแรก ซึ่งยังไม่พบผู้ป่วยแรงงานข้ามชาติมากนัก มูลนิธิรักษ์ไทยให้ความช่วยเหลือในลักษณะของการบรรเทาสาธารณภัยและพัฒนาศักยภาพแกนนำอาสาสมัครแก่แรงงานข้ามชาติใน 10 จังหวัด ได้แก่ ตราด ระยอง จันทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี และสุราษฎร์ธานี

       กิจกรรมหลักในช่วงนั้นมุ่งไปยัง 3 เรื่อง ได้แก่ การให้ความรู้และการป้องกันไวรัสโควิด 19 โดยแจกอุปกรณ์ป้องกันทั้งหน้ากากผ้า และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ 

  เรื่องที่สองคือให้แรงงานข้ามชาติมารวมกลุ่ม เพื่อเย็บหน้ากากผ้า หรือทำเจลแอลกอฮอล์ใช้เอง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้หญิงในพื้นที่มาช่วยกันทำ โดยรักษ์ไทยเตรียมอุปกรณ์และวิทยากรมาช่วยสอน ช่วยกันทำแล้วให้ไปสอนกันเองอีกต่อหนึ่ง เป็นเพราะอุปกรณ์เหล่านี้ในช่วงแรกมีราคาแพงและขาดแคลน ประสบปัญหามีอุปกรณ์แจกเท่าไรก็ไม่พอ จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการมาช่วยกันทำเป็นทางออกสุดท้าย 

     ส่วนสุดท้ายคือการแจกถุงยังชีพ  เพราะธุรกิจบางส่วนปิดตัวลง จึงต้องมีการเยียวยาเบื้องต้น โดยตั้งหลักเกณฑ์ผู้ที่จะได้รับถุงยังชีพว่าจะต้องเป็นแรงงานที่ได้รับผลกระทบ เช่น แรงงานตกงาน หญิงตั้งครรภ์ หรือมีเด็กเล็ก มีผู้ป่วยติดเตียงอาศัยอยู่ที่บ้าน เป็นต้น 

     มาถึงการระบาดระลอกสอง ที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ตอนเดือนธันวาคม 2563 ระลอกนี้พบว่าแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงได้รับผลกระทบอย่างหนัก มีทั้งผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยมากขึ้น 

     “ที่ตลาดกุ้งสมุทรสาคร ทีมเราก็ลงไปช่วยเยอะ เราโชคดีว่ามีแกนนำอยู่ข้างใน พอเขาปิดเราก็เป็นคนประสานจากพื้นที่ข้างนอก มีคลินิกของโรงพยาบาลบำราศนราดูรที่ไปช่วยเหลือดูแลผู้ป่วย เพราะตอนตลาดกุ้งรัฐใช้วิธีปิดไม่ให้คนออกเลย เราก็ประสานงานจากข้างนอก มีถุงยังชีพมาเยอะก็ประสานให้แกนนำมารับ มีการตรวจเชิงรุกเราก็ช่วยแปลภาษา ช่วยจัดคิว ให้รักษาระยะห่าง เรามีบทบาทเป็นมดงานตรงนั้น” วสุรัตน์ หอมสุด ผู้ประสานงานภาคสนาม มูลนิธิรักษ์ไทยกล่าว 

     ในช่วงของการระบาดรอบสองนี้ บทบาทของมูลนิธิรักษ์ไทย ไม่ได้หยุดแค่ส่งเสริมป้องกันโรค แต่เป็นบทบาทของการสนับสนุนการตรวจเชิงรุกแก่แรงงานต่างชาตินับพันในพื้นที่ตลาดกุ้ง และประสานชุมชนที่ถูกปิดกับข้างนอก เข้าไปช่วยเป็นทีมแปลภาษาในโรงพยาบาลสนาม ทำความเข้าใจกับแรงงานต่างชาติที่เข้าพัก ว่าต้องทำตัวอย่างไร ตลอดจนช่วยการสัมภาษณ์สอบสวนเคสเพื่อระบุไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อ เพื่อขยายผลในการตรวจเพิ่มเติม  

     รักษ์ไทยพบว่าประมาณช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมามีความช่วยเหลือด้านถุงยังชีพจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่ลงมาในพื้นที่ตลาดกุ้งเป็นจำนวนมาก จึงได้เน้นไปให้ความช่วยเหลือชุมชนโดยรอบแทน และสิ่งที่พบก็คือ แรงงานเหล่านั้นไม่ได้ขาดแคลนถุงยังชีพ แต่สิ่งที่เขาต้องการคือเงินสดเพื่อนำไปจ่ายค่าเช่าบ้าน เพื่อไม่ให้เจ้าของไล่ออกจากห้องพัก

  เมื่อเป็นเช่นนั้น รักษ์ไทยจึงปรับการทำงานเข้าสู่การบำบัดบรรเทาสาธารณภัย โดยใช้เครื่องมือของแคร์ องค์กรเอกชนนานาชาติที่รักษ์ไทยเป็นสมาชิก จัดให้มีการแจกวอยเชอร์สนับสนุน ตามเกณฑ์ความจำเป็นที่ตั้งไว้ให้ครอบครัวละไม่เกิน 3,000 บาท นับว่าเป็นความช่วยเหลือที่ไปต่อลมหายใจแรงงานข้ามชาติที่กำลังประสบปัญหาได้อย่างทันท่วงที

     โดยสรุปของการทำงานช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติให้พ้นภัยโควิด 19 ในช่วงที่ผ่านมา รักษ์ไทยได้อาศัยความยืดหยุ่นในการทำงานแบบองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทั้งให้ความรู้เพื่อการป้องกันในช่วงแรก และถือเป็นข้อต่อสำคัญในการช่วยเหลือของการระบาดระลอกสอง ได้อย่างตรงจุดตามความต้องการของผู้รับความช่วยเหลืออย่างแท้จริง

(สำหรับโครงการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นี้ มูลนิธิรักษ์ไทย ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟ และองค์การอนามัยโลก)

โครงการอื่นๆ

ล้านมื้อเพื่อคนไทยสู้ภัยโควิด

ล้านมื้อเพื่อคนไทยสู้ภัยโควิด

ตลอดปี 2563 จนถึงปัจจุบัน คนไทยและทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับภัยไวรัสโควิด 19 โรคติดต่อร้ายแรงที่เรายังต้องอยู่กับมันต่อไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง