สิทธิจากเรือสู่ฝั่ง ส่งความรู้กฎหมายสู่แรงงานประมง

     เรื่องการคุ้มครองแรงงานประมงนั้น สามารถย้อนเบื้องหลังกลับไปในช่วงปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงที่คณะกรรมาธิการยุโรป (อียู) ได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการป้องกันและขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing -ไอยูยู ฟิชชิ่ง) ประเทศไทยถูกออกใบเหลือง ตามระเบียบไอยูยู เพราะมีการทำประมงผิดกฎหมาย  

     ด้วยกระแสโลกขณะนั้นจึงเป็นแรงกดดันให้ต้องมีการดำเนินการปรับปรุงการทำประมงให้ถูกระเบียบ และหนึ่งในหัวข้อที่ให้ความสำคัญก็คือการคำนึงถึงสิทธิของแรงงานในอุตสาหกรรมประมง

    นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการ Ship to Shore หรือ โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง อันเป็นโครงการให้ความรู้แรงงานประมงข้ามชาติ เกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พระราชกำหนดบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร, สุราษฎร์ธานี, ปัตตานี, ชุมพร, ระนอง และ ตรัง โดยได้รับความสนับสนุนการดำเนินงานจากสหภาพยุโรป และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ

     บทบาทของมูลนิธิรักษ์ไทยในโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง จะเป็นการให้ความรู้ด้านสิทธิแรงงานและการเสริมพลังกลุ่มแรงงานแกนนำให้ความรู้ต่อเนื่องหลังโครงการครบกำหนด
 
    พื้นที่ในการดำเนินการมีทั้งในส่วนของพื้นที่ที่มีสำนักงานของมูลนิธิในจังหวัดนั้น ๆ และพื้นที่ที่รักษ์ไทยเคยทำงานกับเครือข่ายแกนนำแรงงานประมงข้ามชาติ ซึ่งมีแรงงานรวมกลุ่มกันเอง แล้วทางรักษ์ไทยเข้าไปร่วมทำงานด้วย

    วสุรัตน์ หอมสุด ผู้ประสานงานภาคสนาม มูลนิธิรักษ์ไทย อธิบายถึงการทำงานกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติว่าส่วนใหญ่เป็นการจัดกลุ่มให้ความรู้กับคนในชุมชน ภายในที่พักของแรงงาน บางครั้งต้องลงไปทำกิจกรรมบนเรือ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้มีหอพักอยู่บนฝั่ง อีกทั้งอุปกรณ์ให้ความรู้ก็เป็นแบบง่าย ๆ มีการแจกแผ่นพับข้อมูล และแผ่นไวนิลแทนเพาเวอร์พอยต์เพื่อบอกเล่าประเด็นสำคัญอย่างสิทธิแรงงาน สิทธิประกันสังคม และให้เบอร์โทรติดต่อไว้ หากตัวเขาเองหรือคนในชุมชนถูกละเมิดสามารถติดต่อกลับมาได้ตลอด

     ผู้ประสานงานภาคสนามของมูลนิธิรักษ์ไทย บอกว่า เคสแรงงานกว่า 80 เปอร์เซ็นต์มักจะต้องร้องเรียนไปที่สำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัด ซึ่งกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นจะมีเรื่องค้างค่าจ้าง/ค่าแรง การยึดเอกสารของแรงงานไว้เป็นประกันไม่ให้แรงงานหนี   บางครั้งเจอเคสทำร้ายร่างกาย โดยหัวหน้าคนงานบนเรือ 

     “ต้องบอกว่าเรือออกไปแล้วก็ไปเป็นสัปดาห์เป็นเดือนกว่าจะกลับมา เมื่อออกไปแล้วไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ต้องให้มีอาสาสมัครที่เป็นลูกเรือคอยสอดส่องเหตุการณ์ โดยตอนที่เราไปให้ความรู้จะสังเกตได้ว่าใครมีแวว หรือพอจะช่วยงาน หรือช่วยเพื่อนได้ ก็ดึงเขามาช่วยงานตามความสมัครใจ ไม่ได้มีค่าตอบแทนอะไรให้  คือให้เขาช่วยเหลือเพื่อน  แต่พอได้เป็นอาสาสมัครก็เหมือนกับเขามีหน้ามีตา เวลาที่เราส่งต่อเคสให้เจ้าหน้าที่ เขาก็จะสะท้อนปัญหาได้ในระดับจังหวัด” วสุรัตน์ กล่าว และให้ข้อมูลว่าอาสาสมัครในโครงการ ทั้งหกจังหวัด มีประมาณสองร้อยคนที่มาช่วยงาน

     จากการดำเนินงานเป็นระยะเวลา 2 ปี (มิถุนายน 2560 – กรกฎาคม 2562) โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง สามารถช่วยให้แรงงานข้ามชาติได้รับทราบสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน จำนวน 1,723 คน อบรมพัฒนาศักยภาพผู้นำ จำนวน 161 คน และสามารถช่วยเหลือทางกฎหมายจนได้รับความสำเร็จ จำนวน 116 กรณี จากที่ขอความช่วยเหลือเข้ามา 166 กรณี  

     ประเด็นสิทธิแรงงานประมงข้ามชาติ เป็นเรื่องที่มีความยากลำบากในการทำงาน ทั้งด้วยตัวเนื้องานที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อนายจ้าง และจากตัวแรงงานข้ามชาติเองที่มีทัศนคติว่า ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเพื่อทำงาน ไม่อยากมีใครตกงานเพราะทะเลาะกับนายจ้าง

     แต่บนความยากลำบากในการทำงาน ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าสิทธิแรงงานประมงข้ามชาติ เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย ในฐานะที่เป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคน ที่จะได้ทำงานอย่างมีศักดิ์ศรีและไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ว่าจะเป็นคนชาติใดก็ตาม

โครงการอื่นๆ

ไทยแลนด์ ซีฟูด ฮอทสปอท

ไทยแลนด์ ซีฟูด ฮอทสปอท

ไทยแลนด์ซีฟูดฮอทสปอท เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มูลนิธิรักษ์ไทย ทำงานด้านส่งเสริมสิทธิแก่แรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมง โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งเสริมอำนาจแก่แรงงานข้ามชาติกลุ่มเปราะบาง หรือที่ได้รับผลกระทบจากการถูกบังคับใช้แรงงาน ให้ตระหนักถึงสิทธิของตนและพาตัวเองให้ออกมาจากสถานการณ์การกดขี่เหล่านั้นได้