ผู้หญิงมีหน้าที่แค่เลี้ยงลูก ?

โพสเมื่อ : 17 พฤศจิกายน 2563

นางอรัญวา ชาวพนาไพร (ติ๊ก)

ชาติพันธุ์มะบลี บ้านผาสุก ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน

ผู้หญิงมีหน้าที่แค่เลี้ยงลูก

     แต่เดิมวัฒนธรรมของชาติพันธุ์มะบลิ  ผู้หญิงเวลาแต่งงาน ฝ่ายชายจะมีสิทธิ์เลือกคู่ครอง โดยที่ฝ่ายหญิงจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม เมื่อพ่อแม่ของทั้ง 2 ฝ่ายเจรจาพูดคุยตกลงกันแล้ว และพ่อแม่ของฝ่ายหญิงตัดสินใจยกลูกสาวให้ ก็ต้องไปออกเรือน ผู้หญิงจะไม่มีสิทธิ์พูด และเสนอความคิดเห็น  มีเพียงหน้าที่ ที่ต้องแต่งงาน มีลูก เลี้ยงลูก ทำงานบ้าน และต้องทำตามในสิ่งที่คู่ครองต้องการ

     และด้วยวัฒนธรรมที่ถูกสืบทอดกันมา ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 11 – 12 ปีจะถูกบังคับให้แต่งงาน แต่ในปัจจุบัน ผู้หญิงในชุมชนเริ่มแสดงออกถึงความไม่ต้องการที่จะแต่งงานเร็ว จนกว่าจะมีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 16  ปีขึ้นไป เพราะผู้หญิงชาวมะบลิได้เริ่มเห็นตัวอย่างจากในชุมชน และเห็นความสำคัญของตัวเองมากขึ้น ทำให้เกิดความคิดที่ว่า ความพร้อมก่อนจะมีครอบครัวคือสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ด้านสุขภาพ ความมั่นคง และการศึกษา ตลอดจนสิทธิ์ในการตัดสินใจของฝ่ายหญิง

“...ความคิดของผู้ชายกับผู้หญิงมันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แต่ทำยังไงให้มันก้าวไปพร้อมกัน...”

บทพิสูจน์ สู่ การพัฒนา

     คุณติ๊ก มีพี่น้อง 7 คน ไม่มีพ่อ อาศัยกันโดยที่ต่างคนต่างอยู่ จนทำให้เธอมองเห็นสภาพที่เป็นอยู่ และการไม่พัฒนาของชุมชน ทำให้เธอตัดสินใจออกจากชุมชน เพื่อไปศึกษาต่อในเมือง แม้ว่าการติดสินใจของเธอจะถูกคนในชุมชนมองว่าไม่ดี รวมไปถึงการถูกกีดกันจากทั้งชุมชนและครอบครัวไม่ให้ติดต่อหรือทำกิจกรรมร่วมกัน แต่ความตั้งใจที่คุณติ๊กออกจากชุมชนไปศึกษาต่อ ทำให้เธอพบว่า การศึกษาคือสิ่งสำคัญ จนเธอสามารถนำกลับมาสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในชุมชน และพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่า “…สิ่งที่เราออกมาจากชุมชนไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี แต่เรากำลังไปนำสิ่งดีๆมาเข้าสู่ชุมชน…”  และด้วยโอกาสที่เธอได้เข้าไปทำงานในเมือง จนทำให้เธอได้เห็นสังคม และชุมชนที่หลากหลาย  จึงมีความตั้งใจที่อยากจะให้ชุมชนมะบลีได้มีการพัฒนา อีกทั้งการเปิดโอกาสให้ได้ออกมาจากชุมชนเพื่อไปทำความรู้จัก เรียนรู้และสัมผัสกับวัฒนธรรมอื่นที่หลากหลาย จนทำให้เกิดความคิดที่แตกต่างกัน ที่นำมาสู่การพัฒนา

“ผู้ชาย และ ผู้หญิง ได้ก้าวไปพร้อมๆกัน ”

     การพัฒนาไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนใดคนหนึ่งหรือฝ่ายใด อยากให้ทุกคนได้มีโอกาสแสดงความสามารถ ศักยภาพ ความคิดเห็น และได้เรียนรู้ว่าสังคมภายนอกได้มีการพัฒนาไปถึงไหนแล้ว แม้ว่าความคิดเห็นของผู้ชายกับผู้หญิงที่ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะทำให้การพัฒนาเกิดผลดีที่สุดคือการทำให้ความคิดที่แตกต่างของทั้งผู้ชายและผู้หญิง เดินไปพร้อมๆกันอย่างเข้าใจ

มูลนิธิรักษ์ไทย กับ การพัฒนาศักยภาพผู้หญิง

     จุดเริ่มต้นของการพัฒนาศักยภาพผู้หญิงโดยมูลนิธิรักษ์ไทย เกิดจากทาง อบต. ภูฟ้าได้เข้ามาแนะนำว่าจะมีมูลนิธิเข้ามาพูดคุย โดยที่เธอเองก็คิดว่าเป็นมูลนิธิทั่วไป แต่พอได้เข้าพูดคุย และรู้จักก็รู้ว่าเป็น มูลนิธิรักษ์ไทย ที่จะเข้ามาทำงานด้านการสร้างศักยภาพของผู้หญิง ซึ่งคุณติ๊กเองก็เกิดความสนใจเพราะอยากจะพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าผู้หญิงอย่างเราก็ทำอะไรหลายๆอย่างได้ ซึ่งการทำงานของมูลนิธิรักษ์ไทยเองได้เข้ามาสร้างความมั่นใจ สร้างศักยภาพให้กับผู้หญิงเป็นอย่างมาก ทำให้ผลที่ได้ตอนนี้ผู้หญิงมะบลีรู้จักการทำเกษตร การนำผลผลิตไปยังแหล่งค้าขายที่สร้างรายได้มากขึ้น รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงของผู้หญิงในชุมชนที่มีการแสดงออกในด้านความคิดเห็นมากขึ้นจากเดิม และปัจจุบัน เธอเองได้รับรู้ถึงการพัฒนาที่เกิดขึ้นระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งเธอก็ไม่ได้ต้องการให้เกิดความเจริญเท่าในเมือง เพียงแค่ต้องการลดความเหลี่ยมล้ำของสังคม ปรับวัฒนธรรมของมะบลีให้ผู้หญิงผู้ชายมีความเท่าเทียมกัน ให้ชาวบ้านมีความสุข มีความมั่นใจ และขอให้เขาได้พัฒนาตัวเอง รวมไปถึงให้ทุกคนได้รู้ว่าเราชาวมะบลีได้พัฒนาไปถึงไหนแล้ว

เรื่องราวอื่นๆ

การเปลี่ยนแปลงความคิดที่ก้าวสู่การเป็นผู้นำ

การเปลี่ยนแปลงความคิดที่ก้าวสู่การเป็นผู้นำ

จากความพยายามตั้งแต่เริ่มต้น ได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง หรือผู้ชายก็สามารถเป็นผู้นำได้หมด ขึ้นอยู่กับจิตใจของเราว่าเราจะตั้งใจทำขนาดไหน

ขยะทะเลปัญหาสำคัญของคนเกาะเต่า

ขยะทะเลปัญหาสำคัญของคนเกาะเต่า

คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงเกาะเต่า ในฐานะจุดดำน้ำระดับโลก หาดตามเว้าอ่าวที่มีอยู่รอบเกาะเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวที่ชอบดำน้ำ อ่าวลึกเป็นอ่าวที่อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะเต่า เป็นจุดดำน้ำปะการังน้ำตื้น ที่มีนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่รู้จักกันดี

กลุ่มวิสาหกิจ หมู่บ้านก่อก๋วง ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน

กลุ่มวิสาหกิจ หมู่บ้านก่อก๋วง ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน

ชุมชนชาวลัวะ บนสันเขา บ้านก่อก๋วง ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน มีการตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่ราบและพื้นที่ภูเขา หรือเชิงเขาที่ระดับความสูง 600-1,200 เมตรจากระดับน้ำ ได้อาศัยผืนป่าและตั้งรกรากในพื้นที่แห่งนี้มานาน จนถึงปัจจุบันเป็นพื้นที่อนุรักษ์ติดเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา

กลุ่มสตรีทอผ้าพื้นเมืองบ้านหนองห้า  ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน

กลุ่มสตรีทอผ้าพื้นเมืองบ้านหนองห้า ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน

เสียงหัวเราะ พุดคุยผ่านวงสนทนาของพี่ป้าน้าอา ที่เข้ารับการอบรมการย้อมผ้าไหม จากการส่งเสริมของหน่วยงานจากภาครัฐที่วันนี้มาให้ความรู้กันถึงที่