การเปลี่ยนแปลงความคิดที่ก้าวสู่การเป็นผู้นำ

โพสเมื่อ : 1 มีนาคม 2564

การเปลี่ยนแปลงความคิดที่ก้าวสู่การเป็นผู้นำ

การเปลี่ยนแปลงความคิดที่ก้าวสู่การเป็นผู้นำ

นางสาวเกวลี บัวเหล็ก (เก๋)

ชาติพันธุ์ลัวะ บ้านสะไลหลวง อ.ปัว จ.น่าน

จากความฝัน สู่ความเป็นจริง

     นางสาวเกวลี บัวเหล็ก หรือเก๋ หญิงสาวชาติพันธุ์ ชนเผ่าลัวะ วัย 23 ปี ที่มีบุตรชายวัย 2 ขวบ 1 คน เธอได้เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนเธอเป็นเพียงหญิงสาวธรรมดาที่มีความฝันอยากเป็นบุคลากรทางการแพทย์ แต่ขาดความมั่นใจที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตัดสินใจ แสดงความคิดเห็น หรือการสื่อสาร เพราะด้วยวัฒนธรรมเดิมของชาติพันธุ์ลัวะ ผู้หญิงจะไม่มีสิทธิในการตัดสินใจ รวมไปถึงการเป็นผู้นำ จากปัญหาที่เกิดขึ้นเธอได้มองเห็นสิ่งที่เป็นอยู่ ว่าต้องมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง ทำให้เก๋ตัดสินใจเข้าไปศึกษาต่อในเมือง ที่นอกจากจะทำตามความฝันของตัวเองคือการไปศึกษาต่อสาธารณะสุขแล้ว เธอตั้งใจที่จะไปเรียนรู้ชีวิตแบบคนเมือง เพื่อทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมอื่นๆ จนเธอเองได้เรียนรู้ว่า “ผู้หญิงก็สามารถเป็นผู้นำได้” และเกิดเป็นความคิดที่ต้องการให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลง

“...ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง หรือผู้ชายก็สามารถเป็นผู้นำได้หมด ขึ้นอยู่กับจิตใจของเราว่าเราจะตั้งใจทำขนาดไหน...”

หน้าที่ที่สำคัญกับอุปสรรคที่เกิดขึ้น

     เมื่อ เก๋ ได้พยายามทำตามความฝันจนสำเร็จ เธอไปเป็นเจ้าหน้าที่ อสม. ประจำหมู่บ้าน มีหน้าที่ต้องดูแล และคอยบริการด้านสาธารณะสุขให้กับคนทั้งหมู่บ้านที่มีกว่า 200 คน จากแต่ก่อนที่เป็นการรักษา โดยใช้หมอตำแย หมอผี หรือพิธีกรรมต่างๆ ที่ปัจจุบันแม้ว่าการรักษาด้วยแพทย์สมัยใหม่จะเข้าถึงคนในชุมชนแล้ว แต่อุปสรรคในการเข้าถึงสถานพยาบาล เมื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน หรือการรักษาเฉพาะทาง เส้นทางในการเดินทาง จากชุมชนไปในเมือง ที่นอกจากจะมีระยะทางที่ไกลแล้ว เส้นทางดังกล่าวยังไม่ได้มีการพัฒนาให้เดินทางสะดวก ทำให้หน้าที่ อสม. หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านของเก๋ มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องคอยดูแลด้านสาธารณะสุขให้กับคนในหมู่บ้าน แต่การปฎิบัติหน้าที่ อสม. ของเก๋ยังมีอุปสรรคและข้อจำกัดเกิดขึ้น เนื่องด้วยเส้นทางการเดินทางไปแต่ละบ้าน มีระยะทางที่ค่อนข้างไกล ที่บางเส้นทางต้องใช้วิธิการเดิน เพื่อเข้าไปรักษายังบ้านผู้ป่วย และอุปกรณ์ด้านการแพทย์ที่มีอย่างจำกัด ที่สามารถรักษาได้เพียงเบื้องต้น   และจากการปฎิบัติหน้าที่ อสม. ของเก๋ เธอได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เธอจดจำมาได้ถึงทุกวันนี้ คือการช่วยชีวิตผู้ป่วยที่กำลังจะเสียชีวิตในเวลาเดียวกันถึง 2 คน ที่แม้ว่าเก๋เองจะทำอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตของผู้ป่วยทั้ง 2 รายนั้นไว้ได้

เข้าสู่บทบาทการเป็นผู้นำ

     บทบาทของเก๋ที่นอกจากจะได้เป็นเจ้าหน้าที่ อสม. แล้วเธอยังได้เข้าไปสู่บทบาทของการเป็นผู้นำ ที่คนในหมู่บ้านต่างยอมรับ เพราะจากความพยายามที่เก๋ได้มีมาตั้งแต่เริ่มต้น ได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง หรือผู้ชายก็สามารถเป็นผู้นำได้หมด ขึ้นอยู่กับจิตใจของเราว่าเราจะตั้งใจทำขนาดไหน เพราะสิ่งที่เก๋ทำและเกิดขึ้นในชุมชนไม่ใช่เพียงการรักษาสุขภาพและชีวิต เก๋ยังได้นำความรู้ในด้านสาธารณะสุขที่สำคัญมาให้กับคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร และโภชนาการที่เด็กควรจะได้รับ ตลอดจนการรับฟังปัญหาและให้คำแนะนำในด้านสาธารณะสุข จากคนในหมู่บ้านจากการประชุม หรือการสัมมนาภายในชุมชน จนปัจจุบันเก๋สามารถทำให้เด็กในชุมชนไม่มีใครที่ป่วยจากการขาดสารอาหาร และการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรที่ลดลง

มูลนิธิรักษ์ไทย กับ การพัฒนาศักยภาพผู้หญิง

     แม้ว่าเก๋จะได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่า ผู้หญิงก็สามารถเป็นผู้นำได้ การทำหน้าที่ผู้นำของเธอก็ยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ จนเธอได้มาพบกับมูลนิธิรักษ์ไทย ที่เข้ามาเพื่อหวังจะพัฒนากลุ่มผู้หญิงชาติพันธุ์ ผ่านแกนนำของชุมชนด้วยการจัดกิจกรรมอาชีพ ฝึกอาชีพและการอบรม ทำให้ปัจจุบันเก๋ ได้เป็นผู้นำชุมชนที่แท้จริง ที่นอกจากจะให้ความรู้และการบริการในด้านสาธารณะสุขแล้ว เก๋ยังได้สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกจำนวนมาก เพราะจากความมั่นใจของเธอจากสิ่งที่เก๋ได้พยายามทำมาตลอด ทำให้ทุกคนเชื่อถือ ยอมรับในความเป็นผู้นำของ เก๋ – เกวลี บัวเหล็ก ผู้นำชุมชนแห่งหมู่บ้านสไลหลวง อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ประเทศไทย

เรื่องราวอื่นๆ

ผู้หญิงมีหน้าที่แค่เลี้ยงลูก ?

ผู้หญิงมีหน้าที่แค่เลี้ยงลูก ?

แต่เดิมวัฒนธรรมของชาติพันธุ์มะลิ ผู้หญิงเวลาแต่งงาน ฝ่ายชายจะมีสิทธิ์เลือกคู่ครอง โดยที่ฝ่ายหญิงจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม...

ขยะทะเลปัญหาสำคัญของคนเกาะเต่า

ขยะทะเลปัญหาสำคัญของคนเกาะเต่า

คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงเกาะเต่า ในฐานะจุดดำน้ำระดับโลก หาดตามเว้าอ่าวที่มีอยู่รอบเกาะเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวที่ชอบดำน้ำ อ่าวลึกเป็นอ่าวที่อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะเต่า เป็นจุดดำน้ำปะการังน้ำตื้น ที่มีนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่รู้จักกันดี

กลุ่มวิสาหกิจ หมู่บ้านก่อก๋วง ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน

กลุ่มวิสาหกิจ หมู่บ้านก่อก๋วง ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน

ชุมชนชาวลัวะ บนสันเขา บ้านก่อก๋วง ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน มีการตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่ราบและพื้นที่ภูเขา หรือเชิงเขาที่ระดับความสูง 600-1,200 เมตรจากระดับน้ำ ได้อาศัยผืนป่าและตั้งรกรากในพื้นที่แห่งนี้มานาน จนถึงปัจจุบันเป็นพื้นที่อนุรักษ์ติดเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา

กลุ่มสตรีทอผ้าพื้นเมืองบ้านหนองห้า  ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน

กลุ่มสตรีทอผ้าพื้นเมืองบ้านหนองห้า ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน

เสียงหัวเราะ พุดคุยผ่านวงสนทนาของพี่ป้าน้าอา ที่เข้ารับการอบรมการย้อมผ้าไหม จากการส่งเสริมของหน่วยงานจากภาครัฐที่วันนี้มาให้ความรู้กันถึงที่