เสริมสร้างพลังอำนาจหญิงน่าน

     แม้ภาครัฐจะกำหนดให้เด็กไทยได้รับการศึกษาภาคบังคับเป็นเวลา 9 ปี และโดยภาพรวมแล้วเด็กในเมืองใหญ่ก็ได้รับการศึกษาตามนั้น  แต่ในความเป็นจริงคือยังมีเยาวชนหญิงจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับการศึกษาตามที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนหญิงในจังหวัดน่าน ซึ่งมีอยู่หลากหลายชาติพันธุ์ที่ไม่รู้หนังสือ หรือมีความรู้ไม่เพียงพอต่อทักษะการดำรงชีวิต

     โครงการพัฒนาศักยภาพและการศึกษาของผู้หญิงจังหวัดน่าน โดยมูลนิธิรักษ์ไทย เห็นว่าเด็กและผู้หญิงชนกลุ่มน้อยในจังหวัดน่านซึ่งมีอยู่หลายชาติพันธุ์เผชิญปัญหาเรื่องการรู้หนังสือและขาดโอกาสทางการศึกษาเป็นจำนวนมาก ทั้งจากบริบทสังคมที่บางกลุ่มชาติพันธุ์ไม่เห็นความสำคัญในการให้เด็กหญิงได้เข้าเรียนหรือเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน บางรายจำต้องออกมาแต่งงานตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 18 ปี จึงมีความจำเป็นต้องทำงานส่งเสริมศักยภาพเด็กและหญิงชนกลุ่มน้อยเหล่านั้น

     กรรณาภรณ์ สอนสมฤทธิ์ ผู้จัดการโครงการ เล่าว่าโครงการนี้ทำงานกับกลุ่มหญิงชาติพันธุ์อายุระหว่าง 15 – 35 ปี ในกลุ่มชาวม้ง, ลัวะ, ขมุ, มลาบรี ใน 5 อำเภอของจังหวัดน่าน ได้แก่ บ่อเกลือ, เชียงกลาง, เฉลิมพระเกียรติ, ทุ่งช้าง และ ปัว ด้วยงบประมาณจาก “ลังโคม” (Lancome) เป็นเวลา 4 ปี นับตั้งแต่มกราคม 2561 
 
     การคัดเลือกพื้นที่ในการทำกิจกรรมจะขึ้นอยู่กับการประเมินระดับลึก ระหว่างการทำงานช่วงแรก ซึ่งได้สำรวจคัดเลือกหมู่บ้านและถามคำถามพื้นฐานว่า การศึกษาอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะระดับที่สูงขึ้นกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 3 ไปจนถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 เพียงพอต่อการปรับปรุงเงื่อนไขทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้หญิงและครอบครัวของเธอหรือไม่  
คำตอบที่ได้รับคือ ในขณะที่การศึกษาพื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญ ในด้านการอ่านออกเขียนได้ และความรู้ด้านการศึกษาอื่น ๆ แต่การศึกษาไม่ได้มีส่วนเชื่อมโยงโดยตรงต่อการปรับปรุงเงื่อนไขทางสังคมและเศรษฐกิจ  ชาวลัวะและชาวถิ่น เผชิญปัญหาการลดขนาดการทำการเกษตร และต้องออกไปทำงานนอกชุมชน  งานส่วนใหญ่เป็นงานที่ใช้แรงงานและได้รับค่าจ้างต่ำ  
  

     ดังนั้น การยกระดับ ทักษะจึงเป็นสิ่งที่ต้องการทั้งต่อหญิงสาวในช่วงอายุ 15 - 35 ปี และคนในวัยแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ  ในหมู่บ้านชาวม้ง บริบทสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ผู้ชายมีบทบาทนำเป็นอย่างสูง ผู้หญิงมีบทบาทน้อยในการตัดสินใจ  และหญิงชนกลุ่มน้อยส่วนใหญ่มักจะต้องแบกรับภาระงานบ้าน ขาดโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาตนเอง

    โครงการจึงเริ่มต้นด้วยการมุ่งไปยังผู้หญิงที่จะเข้าร่วมการเสริมศักยภาพนี้ต้องเรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว แต่กำลังหาทางเพิ่มพูนทักษะขั้นสูงขึ้นเพื่อจะเปิดโอกาสเป็นทางเลือกด้านเศรษฐกิจแก่พวกเธอ และจะได้ยกระดับสถานะทางสังคมในเรื่องเพศสภาพ ทั้งภายในครัวเรือน ชุมชน และสังคมวงกว้าง

    ความรู้และทักษะ ไม่ได้เชื่อมโยงกับอาชีพเฉพาะ แต่เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของเด็กหญิงและผู้หญิงให้สามารถมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น และมีส่วนร่วมในชุมชนท้องถิ่นตลอดจนถึงการตัดสินใจต่าง ๆ  ผู้หญิงบอกว่าอยากทำงานใกล้บ้าน จัดการกิจกรรมต่าง ๆ ในวิถีชีวิต และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมากขึ้น

     ทางโครงการได้นำข้อมูลจากการสำรวจความต้องการพื้นฐานในช่วงแรก มาเป็นโจทย์ในการทำงาน จัดหลักสูตรให้สอดคล้องกับผู้เรียน โดยนำเอาภาษาและวัฒนธรรมของแต่ละชนเผ่ามาเป็นสื่อในการเรียนการสอน นำเอาอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน โดยประสานความร่วมมือกับการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) และวิทยาลัยชุมชนน่าน

     เนื้อหาในการเรียนการสอนจะเป็นการศึกษาเพื่อเสริมพลังในระดับปัจเจก เช่น สอนภาษาไทย แต่เขียนออกมาเป็นภาษาม้ง สอนเรื่องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) และทักษะในการสื่อสาร การจัดการธุรกิจขนาดเล็ก การบัญชีและการตลาดพื้นฐาน  ตลอดไปจนถึงทักษะด้านสังคม การเป็นผู้นำ และการสร้างเครือข่าย เป็นต้น

     กรรณาภรณ์ เล่าถึงผลงานเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่งที่เกิดจากฝีมือของผู้เรียนว่า เราเคยทำเวิร์คชอปหัวข้อ “เขียนเรื่องสร้างเรา” ใช้เวลา 3 วัน ให้ผู้เข้าร่วมช่วยกันคิดว่าจะเขียนเรื่องของชนเผ่าตนเองอย่างไร ช่วยกันสืบค้นข้อมูลออกมา กิจกรรมแบบนี้ชาวลัวะชอบมาก เพราะมีเรื่องราวมากมาย ในที่สุดได้ออกมาเป็นผลงาน “บิ๊กบุ๊ค” หนังสือเล่มใหญ่ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคนลัวะ และมีโปสเตอร์ที่สามารถนำเป็นสื่อการสอนแก่ครูดอยได้อีกด้วย

     ตลอดสี่ปีของโครงการพัฒนาศักยภาพและการศึกษาของผู้หญิงจังหวัดน่าน มีเยาวชนหญิงผ่านการเข้าร่วมโครงการ 1,523 คน และผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ทางอ้อมอีกหนึ่งหมื่นกว่าราย 

     การเสริมสร้างศักยภาพผู้หญิงอาจเป็นงานที่เห็นผลเป็นรูปธรรมไม่ชัดเจนเท่าการก่อสร้างวัตถุสิ่งของ แต่เชื่อเถอะว่า หากผู้หญิงมีพลังอำนาจจากความรู้ที่เพิ่มมากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ของเธอและคนที่ล้อมรอบตัวจะต้องดีขึ้นแน่นอน

โครงการอื่นๆ

She made it ผู้หญิงพลิกฟื้นเศรษฐกิจในครอบครัวและชุมชน

She made it ผู้หญิงพลิกฟื้นเศรษฐกิจในครอบครัวและชุมชน

ดึงศักยภาพและความสนใจเพื่อนำมาประกอบเป็นวิชาชีพเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับผู้หญิงที่ถูกตีกรอบด้วยความเชื่อและทัศนคติทางวัฒนธรรม เช่น กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวที่สูญเสียสามีที่เป็นผู้นำครอบครัวไปกับความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้หรือกลุ่มชาติพันธุ์

สิทธิและโอกาสของแรงงานข้ามชาติสตรี

สิทธิและโอกาสของแรงงานข้ามชาติสตรี

ถ้ามีคนถามคุณว่า “แรงงานข้ามชาติ” หน้าตาเป็นอย่างไร เชื่อว่าภาพแรกที่คนมักจะนึกถึงคือภาพของชายรูปร่างหน้าตากำยำล่ำสัน ทำงานใช้แรงงานอย่างโชกโชน

We Sparkle

We Sparkle

“ความไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” ความข้อนี้ใคร ๆ ก็รู้ แต่จะให้ทำได้จริงนั้นอาจยากนัก ยิ่งคนในวัยแรงงานโดยเฉพาะแรงงานหญิงยิ่งมีภาระหนี้สินที่ต้องรับผิดชอบครอบครัวและดูแลผู้มีพระคุณ ยิ่งทำให้ชีวิตปลอดพ้นจากการเป็นหนี้ได้ไม่ง่ายนัก

เสริมศักยภาพผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย เพื่อลดความเปราะบางจากเพศสภาพและการเข้าถึงการสนับสนุน

เสริมศักยภาพผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย เพื่อลดความเปราะบางจากเพศสภาพและการเข้าถึงการสนับสนุน

จากสถานการณ์ความขัดแย้งและความตึงเครียดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องมา 10 กว่าปี ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมที่นั่น โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องเผชิญปัญหาความยากจน ความรุนแรงทางเพศ และการติดยาเสพติด ซึ่งมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง